cheuncheewitjitjai

cheuncheewitjitjai

  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • สองเรา
  • รอบเรา
  • ใจเรา
  • ข่าวคุณภาพชีวิต
  • คลังแผนภาพ
  • ชื่นชีวิตจิตใจ
  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • คนงามกับความอ้วน

คนงามกับความอ้วน

Created
วันจันทร์, 23 มกราคม 2560
Hits
1748 views
Created by
Administrator

01 obese lifestyle chronic disease heart cancer diabetes hypertension hooray good health food

ทั่วโลกมีคนอ้วนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวมาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) โดยความอ้วนนี้นำไปสู่ 5 โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง รวมทั้งการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สถานการณ์และภาระสุขภาพจากความอ้วนที่เกิดต่อผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชาย โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มว่าผู้หญิงจะเกิดผลกระทบจากภาวะอ้วนได้มากกว่าผู้ชาย

ผู้หญิงอ้วน

เมื่อเกือบสิบปีก่อน หากผู้หญิงไทยเดินมาเป็นกลุ่มกันไม่เกิน 5 คนก็จะมีอยู่ 1 คนที่อ้วนแล้ว จากค่าแนวโน้มระดับชาติที่บ่งว่าคนอ้วนกำลังทวีเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งนั้น หากตั้งเกณฑ์ความอ้วนไว้ที่ค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปแล้ว ผู้หญิงเรามีความสามารถในการทำลายสถิติอ้วนได้ก่อนและเร็วกว่าผู้ชายมาก วงรอบการแข่งขันล่าสุดตามผลการสำรวจใน พ.ศ. 2547 พบว่ากลุ่มผู้หญิงได้อ้วนทิ้งห่างจากผู้ชายไปกว่า 10% โดยมีผู้ชายอ้วนอยู่ 22% ในขณะที่มีผู้หญิงอ้วนอยู่ 34% [1]

เด็กอ้วน (ลูกของผู้หญิง)

เด็กไทยได้อ้วนเลียนแบบตามกันไปด้วย (ลูกปูอ้วนก็ย่อมเดินตามแม่ปูอ้วนเป็นธรรมดา) อย่าคิดว่าเด็กฟันน้ำนม (2-5 ขวบ) จะไม่มีความสามารถ เพราะใน พ.ศ. 2540 ความชุกของความอ้วน วัดจากน้ำหนักตัวเทียบความสูง อยู่ที่ 6% พอๆกันกับเด็กรุ่นพี่ฟันแท้ (6-12 ปี) แต่พอ 4 ปีผ่านไป ไปสำรวจใหม่ใน พ.ศ. 2544 กลุ่มเจ้าตัวเล็กทำค่าความอ้วนขึ้นไปอยู่ที่ 8% ก่อนกลุ่มรุ่นพี่ที่ไล่อ้วนกวดตามกันมาติดๆที่ 7% [1] ไม่รู้ว่าทำไมน้องๆถึงต้องแข่งกันอ้วนเหลือเกิน

ผู้หญิงอ้วนเมืองกรุงกับผู้หญิงอ้วนท้องถิ่น

ช่างเป็นความไม่สมเหตุสมผลกันเสียเลย ที่ความสามารถในการอ้วนนั้นได้แผ่ไปถึงชนบทไทย ทำราวกับเป็นร้านสะดวกซื้อที่ผุดขึ้นไปทั่ว อาณาจักรของความอ้วน ณ ปัจจุบัน จึงไม่ใช่อภิสิทธิ์ของคนในเขตเมืองหรือคนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดีเท่านั้น หากเทียบเคียงกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่เคยก้าวล่วงสถานการณ์นี้มาแล้ว แสดงว่าเมืองไทยได้ไต่ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของกระดานกระดก [2] ที่กำลังเกิดการไหลของความอ้วนจากหมู่ผู้หญิงเมือง ไปสู่หมู่ผู้หญิงนอกตัวเมืองอย่างรวดเร็วแล้ว ผู้หญิงเมืองกรุงล็อตแรกโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาหรือฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจดี ต่างเผชิญบทเรียนปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตชาวเมืองตามกระแสตะวันตก และเกิดการเรียนรู้หรือเริ่มเข็ดหลาบจนหัดเลือกกินอย่างมีสุขภาพขึ้น จึงพบว่ามีระดับของหุ่นที่แม้จะยังอ้วนอยู่แต่อ้วนน้อยลง ต่างจากกลุ่มของผู้ที่ไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้กับท้องถิ่นตนจึงไม่ทันได้ระวังเนื้อระวังตัว

02 obese burden women food chronic disease heart cancer diabetes hypertension hooray good health exercise

เมื่อใดที่ความอ้วนได้ยึดครองกายใครแล้ว มักไม่มาอาศัยเดี่ยว เพราะความอ้วนได้นับญาติกับก๊วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเมตาบอลิซึมและหัวใจหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) อันได้แก่ ความยาวเส้นรอบวงเอวมากหรืออ้วนลงพุง ความดันสูง น้ำตาลและไขมันในเลือดล้นเกิน เป็นต้น จึงมักจะชักชวนกันมาลงหลักปักฐานทีละนิดทีละหน่อยในบ้านของผู้อ้วน จนเกิดเป็นโรคอื่นๆตามมาอีกนานัปการ ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมได้ครอบงำทั้งผู้หญิงเมืองและชนบทในรูปแบบต่างๆนานา ข้อเท็จจริงที่แทบไม่อยากเชื่อแต่ต้องเชื่อเพราะเป็นผลจากการสำรวจระดับชาติ คือ ปัญหาความอ้วนและไขมันในเลือดสูงนั้น พบมากในผู้หญิงต่างจังหวัดมากกว่าผู้หญิงเมืองหรือผู้ชายเมืองเสียอีก [3]

ภัยจากความอ้วนและเครือญาติของความอ้วนต่อสุขภาพผู้หญิง

ความอ้วนก่อเบาหวานและส่งผลต่อเมตาบอลิซึมและโรคหัวใจหลอดเลือดได้: เพื่อตอบสนองต่อการได้รับสารอาหารและพลังงานท้นเกิน เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซมในคนอ้วนจึงอยู่ในภาวะของการอักเสบน้อยๆและเรื้อรังอยู่ตลอด จนดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้การขนย้ายกลูโคสเข้าเซลล์ลดลง กลับมีการผลิตกลูโคสโดยตับเพิ่มขึ้น จึงมีกลูโคสหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมาก ในที่สุดทั้งภาวะดื้อต่ออินซูลินและความผิดปกติในการหลั่งของอินซูลิน จึงนำไปสู่โรคเบาหวาน [4]

ความอ้วนก่อมะเร็งได้: เซลล์ไขมันผลิตฮอร์โมนและสารที่สัมพันธ์กับการส่งเสริมการเติบโตของมะเร็ง ภาวะอ้วนนั้นทำให้มีสารพวกนี้สูงอยู่เป็นเวลานานและส่งผลต่อเซลล์เยื่อบุผิวของลำไส้รวมทั้งเกิดการเหนี่ยวนำเป็นทอดๆจนเกิดการเติบโตของมะเร็งผ่านวงจรและกลไกใหม่ [5] ในทุกๆค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น 5 กก.ต่อตรม.ในผู้หญิงนั้น จะพบความสัมพันธ์กับมะเร็งบางชนิดสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ คือ มะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูก ถุงน้ำดี หลอดอาหาร และไต โดยในผู้หญิงอ้วนชาวเอเชียแปซิฟิกจะพบความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม (ทั้งระยะก่อนและหลังหมดประจำเดือน) มากเป็นพิเศษ [6]

ความอ้วนก่อโรคและภาวะอันตรายอื่นๆได้: นอกเหนือจากจะตั้งครรภ์ได้ยากแล้ว อาจพบภาวะเบาหวานตอนตั้งครรภ์ [7] หรือครรภ์เป็นพิษ ลูกมักจะตัวใหญ่และการผ่าท้องคลอดก็มักเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนปกติเป็นกว่าสองเท่า [8] ผู้หญิงอ้วนมากมักไม่ชอบไปตรวจภายในและเอกซเรย์เต้านมจึงทำให้ขาดโอกาสในการค้นพบโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะต้นจึงมักพบโรครุนแรงถึงชีวิตมากกว่า [9],[10] รวมทั้งมีโรคไต [11] และโรคข้อเข่าเสื่อม [12] ได้บ่อยกว่าผู้ชาย

03 risk obese women chronic disease heart cancer diabetes hypertension hooray good health com

ตัวอย่างภาระจากความอ้วนและเครือญาติของความอ้วนต่อผู้หญิงไทยในอนาคตอันใกล้

ใน พ.ศ. 2552 พบผู้หญิงไทยที่อ้วนลงพุงเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ (เพิ่มขึ้นเกือบ 20% เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน) แสดงว่าลงพุงไม่ทันไรก็รีบเป็นโรคกันต่อแล้ว ความชุกของทั้งภาวะเบาหวานแฝงและเบาหวานจริงมีอยู่เกือบ 20% ทั้งนี้ มีคนที่เป็นเบาหวานอยู่ถึง 1 ใน 3 คนที่ไม่เคยรู้ตัวเองมาก่อนว่าเป็นเบาหวาน [13] ทั้งความชุกของเบาหวานที่มีอยู่สูงมากอยู่แล้วในคนไทย ทั้งสัดส่วนความอ้วนและไขมันในเลือดที่มีสูงมากในกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ภาพเหล่านี้สะท้อนภาระการดูแลรักษาโรคเรื้อรังที่กำลังจะมาตกหนักอยู่ที่ผู้หญิงไทยในอนาคตอันใกล้

 

อรพินท์ มุกดาดิลก

8 มกราคม 2556

ปรับปรุง 25 ม.ค. 60

เอกสารอ้างอิง

[1] Aekplakorn W, Mo-Suwan L. Prevalence of obesity in Thailand. Obes Rev. 2009 Nov;10(6):589-92. Epub 2009 Jul 28. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19656310  

[2] Kelly M, Banwell C, Dixon J, Seubsman SA, Yiengprugsawan V, Sleigh A. Nutrition transition, food retailing and health equity in Thailand. Australas epidemiol. 2010 Dec;17(3):4-7. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22442643  

[3] Aekplakorn W, Kessomboon P, Sangthong R, Chariyalertsak S, Putwatana P, Inthawong R, Nitiyanant W, Taneepanichskul S; NHES IV study group. Urban and rural variation in clustering of metabolic syndrome components in the Thai population: results from the fourth National Health Examination Survey 2009. BMC Public Health. 2011 Nov 10;11:854. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22074341

[4] Zeyda M, Stulnig TM. Obesity, inflammation, and insulin resistance--a mini-review. Gerontology. 2009;55(4):379-86. Epub 2009 Apr 8. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19365105

[5] Fenton J, McCaskey S, Woodworth H. Molecular mechanisms of obesity, inflammation and cancer: the use of in vitro model approaches for targeted prevention strategies. Open Obes. 2010;2:23-37. http://www.benthamscience.com/open/toobesj/articles/V002/SI0010TOOBESJ/23TOOBESJ.pdf

[6] Renehan AG, Tyson M, Egger M, Heller RF, Zwahlen M. Body-mass index and incidence of cancer: a systematic review and meta-analysis of prospective observational studies. Lancet. 2008 Feb 16;371(9612):569-78. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18280327 

[7] Torloni MR, Betrán AP, Horta BL, Nakamura MU, Atallah AN, Moron AF, Valente O. Prepregnancy BMI and the risk of gestational diabetes: a systematic review of the literature with meta-analysis. Obes Rev. 2009 Mar;10(2):194-203. Epub 2008 Nov 24. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19055539.1  

[8] Poobalan AS, Aucott LS, Gurung T, Smith WC, Bhattacharya S. Obesity as an independent risk factor for elective and emergency caesarean delivery in nulliparous women--systematic review and meta-analysis of cohort studies. Obes Rev. 2009 Jan;10(1):28-35. Epub 2008 Oct 23. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19021871  

[9] Maruthur NM, Bolen SD, Brancati FL, Clark JM. The association of obesity and cervical cancer screening: a systematic review and meta-analysis. Obesity (Silver Spring). 2009 Feb;17(2):375-81. Epub 2008 Nov 6. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18997682  

[10] Maruthur NM, Bolen S, Brancati FL, Clark JM. Obesity and mammography: a systematic review and meta-analysis. J Gen Intern Med. 2009 May;24(5):665-77. Epub 2009 Mar 11. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19277790  

[11] Wang Y, Chen X, Song Y, Caballero B, Cheskin LJ. Association between obesity and kidney disease: a systematic review and meta-analysis. Kidney Int. 2008 Jan;73(1):19-33. Epub 2007 Oct 10. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17928825  

[12] Jiang L, Tian W, Wang Y, Rong J, Bao C, Liu Y, Zhao Y, Wang C. Body mass index and susceptibility to knee osteoarthritis: a systematic review and meta-analysis. Joint Bone Spine. 2012 May;79(3):291-7. Epub 2011 Jul 30. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21803633  

[13] Aekplakorn W, Chariyalertsak S, Kessomboon P, Sangthong R, Inthawong R, Putwatana P, Taneepanichskul S; Thai National Health Examination Survey IV Study Group. Prevalence and management of diabetes and metabolic risk factors in Thai adults: the Thai National Health Examination Survey IV, 2009. Diabetes Care. 2011 Sep;34(9):1980-5. Epub 2011 Aug 4. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21816976

  • obesity burden disease
    DOWNLOAD

สารบัญ

  • สงครามเกลือ
  • วันนี้เรากินเค็มไปหรือยัง?
  • ศักดิ์ความเค็ม
  • ซ้อสเจ็ด พี่น้องตระกูลเค็ม
  • กินดีได้ดี กินไม่ดีขี้โรค
  • อ้วน อิสระ
  • หยุดเบาหวาน
  • ขอส้มทั้งลูกค่ะ
  • เตรียมตัวชี้บ่งความอ้วน
  • ส่องเวทีมวลกายระดับโลก
  • คนงามกับความอ้วน
  • พลังผักห้าสี
  • นางมันร้าย
  • ภาษีอ้วน
  • สวัสดี
  • เกี่ยวกับเรา
  • ทีมงาน
  • การติดต่อ
  • การสงวนสิทธิ์
  • ตัวชี้วัดความอ้วนของคนไทย
  • กิจกรรมวิจัย
  • ผู้สนับสนุน

Copyright © Cheun Cheewit Jitjai

  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • สองเรา
  • รอบเรา
  • ใจเรา
  • ข่าวคุณภาพชีวิต
  • คลังแผนภาพ
  • กิจกรรมวิจัย
  • ชื่นชีวิตจิตใจ