cheuncheewitjitjai

cheuncheewitjitjai

  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • สองเรา
  • รอบเรา
  • ใจเรา
  • ข่าวคุณภาพชีวิต
  • คลังแผนภาพ
  • ชื่นชีวิตจิตใจ
  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • เตรียมตัวชี้บ่งความอ้วน

เตรียมตัวชี้บ่งความอ้วน

Created
วันจันทร์, 23 มกราคม 2560
Hits
2168 views
Created by
Administrator

01 waist weight beauty diabetes chronic disease heart hypertension obese hooray good health 

หากสามารถชี้บ่งระดับความอ้วนหรือผอมเป็น “ตัวเลข” ได้ จะเป็นหน่วยช่วยชี้วัดความคืบหน้า (หรือไม่คืบหน้า) ในการควบคุมน้ำหนักตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น วันนี้อ้วนขึ้นนิดหน่อย อ้วนขึ้นมาก อ้วนขึ้นมากเหลือเกิน หรือวันนี้ผอมลง เป็นต้น การนำตัวเลขรูปธรรมมาใช้ในการชี้บ่งก็เพียงเพื่อช่วยกำกับให้ตัวเราอยู่กับ “ปัจจุบัน” ของตนเองได้เป็นสำคัญ

เชิญเลือกวิธีการที่อยากนำมาใช้ในการชี้บ่งก่อน

ตัวอย่างวิธีการที่นิยมนำมาใช้เพื่อชี้บ่งความอ้วนนั้น ได้แก่ การวัดเชิงสัณฐานทางมานุษยวิทยา (anthropometric index) การวัดความต้านทานของการผ่านของชีวกระแสไฟฟ้า (bioelectric impedance) การวัดความหนาแน่นของร่างกายโดยการชั่งน้ำหนักใต้น้ำ การวัดปริมาณโปแตสเซียมทั้งหมดในร่างกาย หรือการวัดทางรังสีวิทยาหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น DEXA, CT, MRI และ MRS ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดๆ ข้อผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้จากการคาดคะเนสัดส่วนองค์ประกอบของร่างกาย ที่มีความซับซ้อนของมวลไขมันล้วน มวลไขมันแทรกตามอวัยวะอื่น มวลกายที่ไร้ไขมัน และน้ำในร่างกาย รวมทั้งคุณลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้รับการตรวจ ที่ไม่สามารถเหมือนกันไปได้หมดในทุกเชื้อชาติ [1]

ในบรรดาวิธีการทั้งหลาย การชี้บ่งด้วยการวัดเชิงสัณฐานทางมานุษยวิทยานั้นง่ายที่สุดแล้ว ในที่นี้ จึงจะขอเสนอวิธีการชี้บ่งความอ้วนด้วยการวัดให้ได้เป็นตัวเลข 2 ค่า คือ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) และ ค่าสัดส่วนความยาวเส้นรอบวงเอวต่อความสูง (Waist-to-Height Ratio; WHtR) เนื่องจากเป็นค่าที่สามารถใช้ในการประมาณการปริมาณไขมันในร่างกายได้อย่างแม่นยำในระดับหนึ่ง (ตัวหนึ่งวัดค่าน้ำหนักตัวเพื่อมาประมวลภาวะอ้วนทั่วทั้งตัว อีกตัววัดค่าความยาวเส้นรอบวงเอวเพื่อมาประมวลภาวะอ้วนกลางตัว) สามารถวัดได้โดยง่ายด้วยตนเองที่บ้าน หาซื้อเครื่องวัดได้โดยสะดวก และเป็นตัวชี้บ่งความอ้วนที่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาเชื่อมโยงเทียบเคียงกับหลักฐานทางคลินิกและเมตาบอลิซึมรวมทั้งตามมาตรฐานงานวิจัยทั่วโลกได้อย่างพอควรแก่เหตุ

แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการต่างๆอีกนานัปการ ให้เลือกนำมาใช้ในการระบุปริมาณไขมันในร่างกายมนุษย์ได้ทั้งในระดับอะตอม ระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ ระดับเนื้อเยื่อ และระดับทั้งมวลร่างกาย แต่จะไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้ เพราะราคาแพงเกินไป

บางคนอาจถามว่า ถ้าจะประหยัดกันขนาดนั้น กะๆคะเนเอาด้วยสายตาไปเลยไม่ดีกว่าหรือ จะได้ไม่ต้องมานั่งวัดนั่งคำนวณกันให้ยุ่งยาก แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับความอ้วนในมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สำรวจโดยที่ให้เจ้าของร่างกายบอกมาเอง (self-reported) ว่ามีน้ำหนักและส่วนสูงเท่าไร ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า คนไทยเราจะบอกส่วนสูงโอเว่อร์กว่าความจริงนิดหนึ่ง และน้ำหนักน้อยกว่าความจริงอีกหน่อยหนึ่ง ทำให้ประเมินรวมๆออกมาแล้วดูผอมกว่าความเป็นจริง [2] สรุปว่าการจะชี้บ่งความอ้วนในคนไทย ควรยอมลงทุนวัด ให้ได้เป็นค่าตัวเลข จะดีกว่า ดีกว่าให้คิดกันเอาเอง

เชิญรับทราบข้อจำกัดของการชี้บ่งก่อน

ตัวชี้บ่งตัวแรก “ค่าดัชนีมวลกาย (BMI)” คำนวณจาก น้ำหนักตัวต่อส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร)

BMI มีความสัมพันธ์กับระดับไขมันที่กระจายสะสมอยู่ใต้ผิวหนังในร่างกายของคนเรา ช่วยคะเนมวลไขมันในร่างกายมนุษย์ (ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่) ได้อย่างไม่ต้องหันเอาไขมันมาชั่งกิโลเหมือนหมูให้ยุ่งยาก นิยมใช้กับผู้ใหญ่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนการใช้ในเด็กยังมีข้อจำกัดเพราะเด็กกำลังโตทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความสูงตามอายุและเวลาการสู่วัยรุ่นต่างกันไปในแต่ละเพศ กรณีเด็กจึงนิยมใช้ค่าน้ำหนักตามเกณฑ์ความสูง ข้อจำกัดอีกประการของ BMI คือ ในนักกีฬามีกล้ามเป็นมัดๆมักมีค่า BMI สูงเกิน (เพราะมีมวลกล้ามเนื้อมากไม่ใช่เพราะมีมวลไขมันมาก) ในกรณีเช่นนี้ควรใช้ตัววัดอื่นเพื่อชี้บ่งว่านักกีฬาท่านนั้นอ้วนเกินไปหรือไม่

ตัวชี้บ่งตัวสอง “ค่าสัดส่วนความยาวเส้นรอบวงเอวต่อความสูง (WHtR)” ถูกนำมาใช้ ด้วยว่าแม้ BMI จะเป็นวิธีการที่ใช้ได้คล่องตัวก็ตาม แต่ไม่สามารถแยกแยะความอ้วนรยางค์ทั้งตัว (peripheral obesity) ออกจากความอ้วนกลางตัวหรืออ้วนพุง (abdominal obesity) ได้ ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีน้ำหนักตัวและ BMI ปกติ แต่กลับมีพุงยามไม่ใส่สเตย์ (ผอมแต่มีพุง) โดยที่กลุ่มคนที่มีไขมันพุงมากถือเป็นสัญญาณร้ายหรืออาจร้ายกว่าการอ้วนกลมทั้งตัวเสียอีก การใช้ WHtR เพื่อชี้บ่งความอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะช่วยชดเชยข้อจำกัดข้อนี้ของ BMI ได้ ในกรณีการคัดกรองเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงเชิงหัวใจและเมตาบอลิซึม บางตำราก็อ้างว่าค่านี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีกว่า BMI หรือการวัดความยาวเส้นรอบวงเอว (waist circumference) เฉยๆด้วยซ้ำไป [3] ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าตัวชี้วัดนี้จะสามารถนำไปใช้ได้แม้ในเด็กและในทุกเชื้อชาติทั่วโลก (แตกต่างจากค่า BMI ที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์จุดตัดของชาวเอเชียว่าควรจะแตกต่างจากชาวยุโรปหรือไม่ในการนำไปประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ) อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักสะดวกใจต่อการชั่งน้ำหนักมากกว่า เพราะการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักเป็นรายขีดย่อมตื่นตาตื่นใจวันต่อวัน ดีกว่าการวัดความยาวเส้นรอบวงเอวที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขได้ช้ากว่ากันมาก สรุปว่าเพื่อความครบถ้วนและแม่นยำเพิ่มขึ้นในการประเมินความอ้วนของร่างกายเรา ควรใช้ทั้งค่า BMI และ WHtR ประกอบกันไปก็แล้วกัน

เชิญเลือกเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการชี้บ่ง

ก่อนอื่นต้องไปหาซื้อเครื่องมือที่ห้างสะดวกซื้อกันก่อน คือ

(1) เครื่องชั่งน้ำหนัก เลือกซื้อแบบเครื่องดิจิตัลก็จะดีกว่าแบบเข็ม เพราะตอนยืนชั่ง พุงมักจะค้ำทำให้มองเห็นเข็มที่ขยับไม่ถนัดนัก เครื่องดิจิตัลเห็นตัวเลขขึ้นเป๊ะๆ แถมสมัยนี้ก็ราคาไม่กี่ร้อยบาท ใช้ไปได้ตลอดชีวิต จึงควรหัดชั่งน้ำหนักเป็นประจำทุกเช้าจะได้ใช้คุ้ม

(2) สายวัดความยาวเส้นรอบวงเอว แบบที่ช่างตัดเสื้อใช้ แบบมีสปริงดูดกลับเองได้ยิ่งดี ซื้อมาพกไว้ในกระเป๋าตลอดเวลา

(3) เครื่องวัดส่วนสูง ไม่ต้องซื้อให้ยุ่งยาก ทำขึ้นเองก็ได้ โดยใช้สายวัดจากข้อที่สองนั่นแหละทาบกับฝาฝนังบ้าน บั้งขีดไว้ ให้คนวัดกันได้ทั้งบ้าน หรือไม่ก็ไปแอบวัดตามโรงพยาบาลหรือตอนทำบัตรประชาชนก็ได้ วัดครั้งเดียวใช้ได้นานเลย ไม่น่าสูงไปกว่านี้แล้วล่ะ

เชิญลงมือวัดเพื่อนำไปเทียบเคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนสูงวัดเป็นเซนติเมตร

02 height waist weight beauty chronic disease heart hypertension obese hooray good health

น้ำหนักตัววัดเป็นกิโลกรัม

03 weight waist beauty diabetes chronic disease heart hypertension obese hooray good health

ความยาวเส้นรอบวงเอววัดเป็นเซนติเมตร

04 measure waist weight chronic disease shape obese hooray good health

การตั้งจุดระดับสำหรับวัดความยาวเส้นรอบวงเอว

05 waist weight beauty diabetes chronic disease heart hypertension obese hooray good health

การเล็งระดับสำหรับวัดความยาวเส้นรอบวงเอวนั้น ควรตั้งค่าระดับที่ “จุดกึ่งกลางระหว่างปลายล่างสุดของชายโครงกับปุ่มบนสุดของตะโพก (the lower rib and iliac crest)” [4] และควรวัดขณะหายใจออกสุด (เบาๆ) ตำแหน่งที่ว่านั้นสำหรับคนที่พุงย้อยมักไม่ใช่ตำแหน่งสะดือเสียเลยทีเดียว อีกประการ ไม่ควรต้องลำบากในการขอเปิดดูสะดือกันก่อนวัด ดังนั้น เพื่อให้การแปลผลแม่นยำช่วยวัดที่ระดับตามที่กำหนดให้จะดีกว่า

เชิญเตรียมทำใจในผลที่จะได้รับ

ผลการชี้บ่งที่ แพทย์ พยาบาล หรือผู้ชี้บ่งคนอื่นๆ จะแจ้งแก่ท่านนั้น แม้จะไม่สามารถเทียบเคียงเท่ากับการแจ้งข่าวร้าย (เช่น การแจ้งผลการเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งขั้นต่างๆ) ได้ก็ตาม และแม้ว่าการวัดเพื่อการชี้บ่งนี้จะยังมีข้อจำกัด แต่สิ่งสำคัญก็คือ ท่านไม่ควรจะตั้งเกณฑ์ความอ้วนผอมเองตามอำเภอใจ

06 obese index height waist weight beauty hooray good health com

        เอาล่ะ... เราจะขอพักเบรก เพื่อไปเตรียมตัวก่อนก่อนมาแจ้งข่าวนี้แก่ท่าน ท่านจะได้มีเวลาทำใจ ให้พร้อมยอมรับต่อความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นเสียก่อน

 

อรพินท์ มุกดาดิลก

9 มกราคม 2556

ปรับปรุง 24 ม.ค. 60

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Ayvaz G, Cimen AR. Methods for Body Composition Analysis in Adults. Open Obes. 2011;3:62-69. http://www.benthamscience.com/open/toobesj/articles/V003/SI0056TOOBESJ/62TOOBESJ.pdf

[2] Lim LL, Seubsman SA, Sleigh A. Validity of self-reported weight, height, and body mass index among university students in Thailand: Implications for population studies of obesity in developing countries. Popul Health Metr.2009 Sep 25;7:15. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19778455

[3] Ashwell M, Gunn P, Gibson S. Waist-to-height ratio is a better screening tool than waist circumference and BMI for adult cardiometabolic risk factors: systematic review and meta-analysis. Obes Rev. 2012 Mar;13(3):275-86. Epub 2011 Nov 23 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22106927

[4] Ashwell M, Browning LM. The increasing importance of Waist-to-Height Ratio to assess cardiometabolic risk: a plea for consistent terminology. Open Obes. 2011;3:70-77. http://www.benthamscience.com/open/toobesj/articles/V003/SI0056TOOBESJ/70TOOBESJ.pdf

  • obesity indicies file 1
    DOWNLOAD
    obesity indicies file 2
    DOWNLOAD

สารบัญ

  • สงครามเกลือ
  • วันนี้เรากินเค็มไปหรือยัง?
  • ศักดิ์ความเค็ม
  • ซ้อสเจ็ด พี่น้องตระกูลเค็ม
  • กินดีได้ดี กินไม่ดีขี้โรค
  • อ้วน อิสระ
  • หยุดเบาหวาน
  • ขอส้มทั้งลูกค่ะ
  • เตรียมตัวชี้บ่งความอ้วน
  • ส่องเวทีมวลกายระดับโลก
  • คนงามกับความอ้วน
  • พลังผักห้าสี
  • นางมันร้าย
  • ภาษีอ้วน
  • สวัสดี
  • เกี่ยวกับเรา
  • ทีมงาน
  • การติดต่อ
  • การสงวนสิทธิ์
  • ตัวชี้วัดความอ้วนของคนไทย
  • กิจกรรมวิจัย
  • ผู้สนับสนุน

Copyright © Cheun Cheewit Jitjai

  • หน้าหลัก
  • เราเอง
  • สองเรา
  • รอบเรา
  • ใจเรา
  • ข่าวคุณภาพชีวิต
  • คลังแผนภาพ
  • กิจกรรมวิจัย
  • ชื่นชีวิตจิตใจ